5 คำถามสำคัญที่สังคมไทยไม่ควรปล่อยผ่าน : ชวนคิดเรื่องกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ระลอกโอมิครอน

5 คำถามสำคัญที่สังคมไทยไม่ควรปล่อยผ่าน : ชวนคิดเรื่องกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ระลอกโอมิครอน

10 มีนาคม 2565

โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรศม ลีระพันธ์
โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดสองปีที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาและหลากหลายสถาบันได้ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยประยุกต์ใช้ความรู้ด้านระบาดวิทยา การคิดเชิงระบบ และการพัฒนาแบบจำลองพลวัตรระบบ ได้แก่ 1)โครงการพัฒนาแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019เพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย 2) การสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการวางแผนการปรับตัวหลังวิกฤตของระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ 3) การสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการวางแผนการปรับตัวหลังวิกฤตของระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 : การจัดการห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

นอกจากจุดประสงค์หลักเพื่อสร้างองค์ความรู้สำหรับใช้ประกอบการออกแบบและตัดสินใจเชิงนโยบายในภาวะวิกฤต และสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาดำเนินการศึกษาวิจัยระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย คณะผู้วิจัยยังคาดหวังจุดประกายกระบวนการเรียนรู้ในสังคมไทยเกี่ยวกับกระบวนการนโยบายสาธารณะในภาวะวิกฤต เพื่อเรียนรู้และพัฒนาระบบจัดการภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินในระยะยาว ผลจากการศึกษาและประสบการณ์ตรงจากการทำงานของคณะผู้วิจัยนำมาสู่การสังเคราะห์ตั้งประเด็นคำถาม 5 ข้อเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อชวนให้สังคมได้ย้อนคิดและร่วมกันค้นหาแนวทางเพื่อการพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขบนพื้นฐานของหลักฐานวิชาการ (evidence-informed policy-making: EIPM) ภายใต้ข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของข้อมูลและความท้าทายจากความกดดันรอบด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป


Q1: กลับตัวก็ไม่ได้จะเดินต่อไปก็ไปไม่ถึง? : เราควรมีนโยบายและมาตรการเพื่อรับมือจัดการระบาดระลอกสายพันธุ์โอมิครอนที่แตกต่างไปจากการรับมือการระบาดระลอกที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง?

คำตอบที่เรามักจะได้ยินจากผู้กำหนดนโยบายคือ แม้เชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นแต่มีความรุนแรงลดลง น่าจะทำให้ใกล้สิ้นสุดการระบาดใหญ่ (pandemic) และเรากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การมีโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) ในประเทศไทย น่าจะเป็นโอกาสช่วยให้เราเริ่มเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศได้แล้ว

การทำงานระยะที่ผ่านมาทำให้ทีมวิจัยมีคำตอบที่อาจจะแตกต่างออกไป ความเข้าใจทางระบาดวิทยาและไวรัสวิทยา รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วยแบบจำลองสถานการณ์ (simulation modeling) ยังคงชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของประชาชนที่ยังมีความเปราะบางด้านสุขภาพในระบาดระลอกสายพันธุ์โอมิครอน ยังจำเป็นที่ภาครัฐต้องเร่งรัดการพัฒนานโยบายและมาตรการที่จะช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างรวดเร็วที่สุด และหากเราควบคุมการระบาดระลอกโอมิครอนได้ไม่ดี อาจจะน่าจะเป็นอุปสรรคในการเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศได้เช่นกัน (อ่านต่อบทความฉบับเต็ม)


Q2: ข้อมูลเปลี่ยนไปทำไมความเข้าใจไม่เปลี่ยนตาม? : ประชาชนควรระวังอะไรเป็นพิเศษบ้างในการระบาดระลอกนี้ และควรจะเลิกระวังอะไรได้แล้วบ้าง?

คำตอบที่เรามักจะได้ยินจากผู้กำหนดนโยบายคือ “ประชาชนห้ามการ์ดตก” แต่จากการทำงานในระยะที่ผ่านมาทำให้ทีมวิจัยมีคำตอบที่อาจจะแตกต่างออกไป นอกจากเรื่องการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมก่อนที่ภูมิคุ้มกันจะตกลงแล้ว เราทุกคนควรสนใจปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ (new normal) โดยเฉพาะเรื่องระบบระบายอากาศในอาคารสถานที่เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง (structural change) มากกว่าการมุ่งเน้นเพียงเฉพาะเรื่องพฤติกรรมส่วนบุคคลเท่านั้น นอกจากนั้น เราสามารถลดการระมัดระวังการติดเชื้อที่มากเกินไปในระหว่างการทำกิจกรรมบางประเภทในพื้นที่สาธารณะ โดยการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคระหว่างการใช้ตามหลักฐานวิชาการที่มีล่าสุด (อ่านต่อบทความฉบับเต็ม)


Q3: ทำไมเรา (ถูกทำให้) มองเห็นความจริงได้ยากนัก? : ทำไมการนำเสนอสถานการณ์การระบาดของสธ. และ ศบค. จึงยังไม่สามารถในการระบุจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งหมดในแต่ละวันได้อย่างชัดเจน?

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเรายังไม่สามารถคิดจำนวนรวมผู้ที่ตรวจได้ผลบวกด้วย ATK และผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ในแต่ละวันได้โดยตรง และคำตอบที่เรามักจะได้ยินจากผู้กำหนดนโยบายคือ จำนวนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ได้ผลบวก ยังไม่สามารถนับรวมเป็น “ผู้ติดเชื้อใหม่” ตามนิยามสากลได้ จำเป็นต้องได้รับการยืนยันด้วยการตรวจ Real Time Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) เสียก่อน ซึ่งหากเรานับตัวเลขทั้งสองส่วนนี้รวมกันโดยตรงจะเป็นการนับซ้ำ เพราะส่วนหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน เป็นผู้ที่เคยรายงานแล้วว่าเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่ายในวันก่อน ๆ

การทำงานระยะที่ผ่านมาทำให้ทีมวิจัยมีคำตอบที่อาจจะแตกต่างออกไป การแยกแยะรายงานระหว่างผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (probable case) และรายงานผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR แล้ว (confirmed case) เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่เวลาที่ผ่านไปเกือบครึ่งปีหลังจากที่เราเริ่มใช้ ATK ในการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 น่าจะนานพอที่หน่วยงานภาครัฐสามารถพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อระบุข้อมูลของผู้เข้ารับการตรวจ (identification) เพื่อให้สามารถแยกผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR ที่เคยเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่ายในวันก่อน ๆ ออกมาได้ไม่ยาก และเชื่อได้ว่าไม่เกินความสามารถทางเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศในประเทศไทย (อ่านต่อบทความฉบับเต็ม)


Q4: ประกาศแบบไหนที่คนไทยพร้อมร่วมมือ? : ข้อควรระวังสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการระบาดระลอกนี้ได้แก่อะไรบ้าง?

หากถามว่าเราจะป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนของการปฏิบัติตามนโยบายควบคุมโรคโควิด-19 ระลอกโอมิครอนได้อย่างไร? คำตอบที่เรามักจะได้ยินจากผู้กำหนดนโยบายคือ การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินระดับชาติ ต้องการหน่วยงานกลางในระดับชาติ เพื่อทำหน้าที่บูรณาการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ และควบคุมสั่งการการปฏิบัติตามนโยบายของผู้ที่เกี่ยวข้อง ใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะผ่านกลไกการอภิบาลระบบด้วยการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินภายใต้กลไกของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติโรคติดต่อ และอนุบัญญัติที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ มีการจัดตั้งกลไกการจัดการภาครัฐเพื่อรับผิดชอบการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นหลายแห่ง ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operations Center: EOC) กระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมควรติดตามข้อมูลและข่าวสารจาก ศบค. และไม่ผลิตหรือเสพข่าวปลอม (fake news)

การทำงานระยะที่ผ่านมาทำให้ทีมวิจัยมีคำตอบที่อาจจะแตกต่างออกไป การอภิบาลระบบในช่วงที่ผ่านมาน่าจะยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก ทั้งในแง่ของความเชื่อมโยงของข้อมูลเพื่อสังเคราะห์ทางเลือกเชิงนโยบายสำหรับการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย และบูรณาการการทำหน้าที่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคส่วนอื่นให้มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ประเด็นสำคัญสำหรับกระบวนการนโยบายเพื่อควบคุมโรคในระลอกโอมิครอนนี้ น่าจะเป็นการสื่อสารนโยบายที่ไม่ทำให้ประชาชนสับสน และการไม่ยึดติดกับเป้าหมายระยะยาวในบางเรื่องที่เรายังคงยังมีโอกาสที่เราประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป (underestimation) ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดจากการปรับนโยบายและมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่เริ่มการระบาดระลอกโอมิครอนนี้ หรือการที่กระทรวงสาธารณสุขมีการตัดสินใจเชิงนโยบายและประกาศปรับมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยแบบโรคประจำถิ่น (endemic disease) ท่ามกลางความไม่แน่นอนของข้อมูลและแรงกดดันด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ (อ่านต่อบทความฉบับเต็ม)


Q5: ฉุกเฉินมาสองปีเราได้เรียนรู้อะไรจากการมีศบค.? : ระบบการจัดการภาวะสาธารณะฉุกเฉินที่ดีควรเป็นอย่างไร?

คำถามนี้อาจจะไม่ใช่คำถามที่เราเคยได้ยินคำตอบที่จากผู้กำหนดนโยบายมากนัก อาจเป็นเพราะสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปอาจจะยังไม่เคยตั้งคำถามลักษณะนี้ในที่สาธารณะเพื่อชวนคิดชวนคุยให้เกิดการอภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวางในสังคมไทยมากนัก แต่จากประสบการณ์ตรงที่ได้จากการทำงานของทีมวิจัยที่มีเป้าหมายทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ในระยะเวลาประมาณสองปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยอาจจะพอตอบคำถามนี้ได้บ้างในเบื้องต้น

ระบบการจัดการภาวะสาธารณะฉุกเฉินที่ดีควรจะทำหน้าที่บูรณาการทรัพยากรของทั้งประเทศ (ไม่ใช่เฉพาะทรัพยากรของภาครัฐเท่านั้น) และควรมีกระบวนการทำงานที่ทำหน้าที่แก้ไขทั้งปัญหาฉุกเฉินเฉพาะหน้าและวางแผนแก้ไขปัญหาหรือป้องกันการเกิดปัญหาที่เกิดจากภาวะฉุกเฉินในระยะยาวอย่างยั่งยืน ดังนั้น ปัญหาใหญ่อีกส่วนหนึ่งในกระบวนการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายในภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินของประเทศไทย อาจมีสาเหตุจากแนวโน้มที่ผู้กำหนดนโยบายมีการตัดสินใจที่มุ่งเน้นการตอบโต้ต่อสถานการณ์ (reactive) โดยไม่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบสุขภาพ หรือยังไม่ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาที่จุดคานงัดของระบบ (high-leverage points within the systems) ทำให้ปัญหาหลายด้านยังคงอยู่หลังเริ่มการระบาดใหญ่มามากกว่า 2 ปีแล้ว (อ่านต่อบทความฉบับเต็ม)


คณะทำงานแบบจำลองระบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19

1. รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2. ดร.นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ กรมควบคุมโรค และ International Health Policy Program
3. ผศ.ดร.พาส์น ฑีฆทรัพย์ มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด
4. ดร.นพ.ปณิธี ธัมมวิจยะ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
5. ดร.นพ.วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย มูลนิธิสุขภาพภาคใต้ และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
6. ผศ.พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
7. นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย International Health Policy Program
8. ทพญ.วรารัตน์ ใจชื่น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
9. นพ.ภาณุวิชญ์ แก้วกำจรชัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
10. น.ส.แพรวนภา พันธุ์สวาสดิ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล