COVID-19 กับ Systems Modelling

ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่มีความซับซ้อน
และกระบวนการพัฒนาแบบจำลองระบบ

28 มีนาคม 2563

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรศม ลีระพันธ์
สาขาวิชาการจัดการระบบสุขภาพ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


ปัญหาการระบาดของ COVID-19 เป็นปัญหาซับซ้อน ยากต่อการแก้ไขด้วยนโยบายที่คิดแบบแยกส่วน หรือใช้การบังคับหรือการสั่งการแบบไม่มีส่วนร่วมของคนในสังคม ข่าวรายวันจากการออกนโยบายของรัฐบาลที่เริ่มสร้างความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน หรือนโยบายที่แย้งกันเอง รวมทั้งการนำเสนอข่าวดราม่ารายวันในสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์สะท้อนความซับซ้อนของการจัดการเรื่องนี้ได้อย่างดี

Pix source: Tom Fiddaman’s SEIR model: https://metasd.com/…/03/community-coronavirus-model-bozeman/)

ในกระบวนการออกแบบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาซับซ้อนจากการระบาดของ COVID-19 ควรมีการทดสอบผลลัพธ์และผลกระทบทุกด้านของแต่ละนโยบายในแบบจำลองสถานการณ์ เราจึงต้องการทั้งข้อมูล “ด้านระบาดวิทยา” (จำนวนการคัดกรอง จำนวนคนที่ได้รับการกักกันโรคและตรวจติดตาม ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ) “ด้านระบบบริการสุขภาพ” (ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนเมื่อเราเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 เช่น จำนวนเตียงใน ICU จำนวนเครื่องช่วยหายใจ จำนวนห้องความดันลบ ซี่งจะส่งผลถึงจำนวนผู้เสียชีวิต) “ด้านเศรษฐกิจ” (จำนวนนักท่องเที่ยวและการเดินทางในประเทศ จำนวนคนตกงาน กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ GDP) และ “ด้านจิตวิทยาสังคม” (การกักตุนสินค้าและการขาดตลาดของสินค้าจำเป็นบางประเภท หรือ social discrimination ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ well-being ในส้งคม)

Pix source: Tom Fiddaman’s SEIR model: https://metasd.com/…/03/community-coronavirus-model-bozeman/)

จะดีกว่าไหม? ถ้าหากเรามีเวทีสร้างความเข้าใจร่วมกัน และมีกระบวนการพัฒนาแบบจำลองระบบ (systems modeling) ร่วมกันระหว่างภาครัฐที่ดูแลรับผิดชอบข้อมูลและมีหน้าที่โดยตรงในกระบวนการโยบาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาครัฐและเอกชน และทีมวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ที่บูรณาการข้อมูลทุกด้าน และมีการสื่อสารข้อมูลดังกล่าวกับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

Pix source: Tom Fiddaman’s SEIR model: https://metasd.com/…/03/community-coronavirus-model-bozeman/)

สังคมไทยยังจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือวิกฤติของการระบาดระยะที่ 3 เพื่อไม่ให้มีการเสียชีวิตจำนวนมาก (เหมือนอย่างในจีน อิหร่าน หรืออิตาลี) เราจำเป็นต้องมีการพัฒนาความเข้าใจร่วมกัน และมีการสื่อสารสาธารณะข้อมูลที่ตรงกันทำให้เกิดความสับสนน้อยที่สุด ทำให้เราทุกคนได้รับรู้ว่าจะสามารถดูแลตนเองและคนรอบข้างได้อย่างไร เรียนรู้ว่าการพัฒนานวัตกรรมในการจัดการเรื่องอะไรที่มีความจำเป็นสูงสุด และตื่นรู้ว่าเราแต่ละคนแต่ละหน่วยงานจะสามารถ contribute ต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 ร่วมกันได้อย่างไรได้ชัดเจนมากขึ้น