ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยในวันที่ 99 ของการระบาดระลอกสาม

ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยในวันที่ 99 ของการระบาดระลอกสาม

8 กรกฎาคม 2564

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรศม ลีระพันธ์
โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


.

Q1: การคาดการณ์สถานการณ์การระบาดในระดับประเทศ (ถ้าหากยังไม่ใช้มาตรการ lockdown) เป็นอย่างไรบ้าง?

.
ถ้าเรานับวันที่ 1 เม.ย.64 เป็นวันแรกของการระบาดของโควิดระลอกสาม จนถึงวันนี้ (8 ก.ค.64) นับเป็นวันที่ 99 ของการระบาดระลอกสามในประเทศไทยแล้ว และเราใช้ชีวิตอยู่ภายใต้แล้ว พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มามากกว่า 15 เดือนแล้ว
.
หากยังไม่มีนโยบายเพิ่มเติม แนวโน้มการระบาดในอนาคตระยะสั้นจะขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 25 (ซึ่งเริ่มมีผล 28 มิ.ย.64)
.
แต่ถ้าเราพิจารณาจากข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในระยะ 10 วันที่ผ่านมา มีแนวโน้มสอดคล้องกับการลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้เพียง ~10-15% (เมื่อเทียบกับก่อน 28 มิ.ย.) ซึ่งชัดเจนว่าจนถึงวันนี้เรายังคงไม่สามารถเปลี่ยนแนวโน้มการระบาดให้ลดลงได้ (นอกจากนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชนอาจจะมากกว่าที่รายงาน ถ้าหากในความเป็นจริงผู้ติดเชื้อจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงการตรวจโรคได้)
.

Q2: ถ้าหากเราใช้มาตรการ lockdown เป็นระยะเวลา 21 วัน (9-30 ก.ค.64) จะใช้เวลากี่วันในการลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ และลดจำนวนผู้เสียชีวิต?

.
ระหว่างที่เราจำเป็นต้องรอฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้น (รวมทั้งรอภูมิหลังจากฉีดวัคซีนครบสองเข็มอีกประมาณสองสัปดาห์) หากเราต้องเลือกใช้มาตรการควบคุมโรคระยะเข้มข้นพร้อมการเยียวยาที่เหมาะสม (lockdown) ก็ควรต้องทำให้เกิดผลลัพธ์ในการลดการแพร่เชื้อในชุมชนให้ได้อย่างน้อย 40% (เมื่อเทียบกับก่อน lockdown) จึงจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชนลงมาจนพอที่จะอยู่ภายในขีดความสามารถของมาตรการตรวจเชิงรุก การสอบสวนโรค การกักกันแยกโรค (TTI) หรือ Nonphamaceutical Interventions (NPIs) ซึ่งอาจจะทำให้แนวโน้มการระบาดในระยะหลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการ lockdown ลดลงต่อไปได้
.
แต่หาก lockdown แล้วลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้น้อยกว่า 40% จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังคงเกินขีดความสามารถของระบบควบคุมโรค (TTI/NPI) และอาจจะทำให้แนวโน้มการระบาดในระยะหลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการ lockdown กลับมาเริ่มสูงขึ้นอีกครั้งได้
กรณีมาตรการ lockdown ลด transmission ได้ประมาณ 40% คาดการณ์ว่าจะใช้เวลา ~4 สัปดาห์ จึงจะทำให้จำนวนผู้ติดชื้อใหม่รายวันลดลงมาใกล้เคียงกับสถานการณ์ช่วงต้นเดือนมิ.ย.64 และคาดการณ์ว่าใช้เวลา ~7-8 สัปดาห์ จึงจะทำให้ความต้องการเตียงรพ.กลับมาใกล้เคียงกับสถานการณ์ช่วงต้นเดือนมิ.ย.64
.
แต่จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันในระยะ 8 สัปดาห์นี้อาจจะยังไม่ลดลงมาเท่ากับช่วงต้นมิ.ย.64