ข้อคิดบางประการเรื่องสัดส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ตรวจพบเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงในประเทศไทย

ข้อคิดบางประการเรื่องสัดส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ตรวจพบเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงในประเทศไทย

27 กรกฎาคม 2564

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรศม ลีระพันธ์
โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


1. ประเด็น “underreporting” หรือการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อยกว่าความเป็นจริง เป็นปัญหาในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนกระบวนการนโยบายควบคุมโควิดในทุกประเทศทั่วโลก เพราะทำให้ประเมินประสิทธิผลของการควบคุมโรคได้ลำบาก

สาเหตุส่วนหนึ่งของ underreport เกิดจากผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (ที่คาดการณ์ว่ามีจำนวนอย่างน้อย 50% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับการตรวจจึงไม่ได้ถูกรวมอยู่ในรายงาน (แต่แพร่เชื้อในชุมชนได้)
นอกจากนั้น ถ้าสมมติว่าประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการตรวจได้ทุกคน เราก็ยังมี underreport ได้อยู่ดี เพราะเมื่อพิจารณาวิธีเก็บสิ่งส่งตรวจและวิธีการตรวจที่ใช้กันทั่วโลก เรายังมีข้อจำกัดเรื่องความไว (sensitivity) ของการตรวจโรคโควิดซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70% เท่านั้น (ทีมวิจัยของ MIT คาดการณ์ว่าข้อจำกัดของความไวในการตรวจเพียงอย่างเดียวก็อาจทำให้เรามีจำนวนผู้ติดเชื้อจริงทั่วโลกประมาณ 1.43 เท่าของตัวเลขที่รายงานกัน)
แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้ underreport ของแต่ละประเทศอาจจะไม่เท่ากัน คือ ขีดความสามารถในการตรวจและการเข้าถึงการตรวจของประชาชน (testing capacity & accessibility) ที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ

2. ทีมวิจัยของเราพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ระบาดวิทยาโดยพิจารณาถึงการตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจำนวนหนึ่งไว้อยู่แล้ว นอกจากนั้นในช่วงแรกของการระบาดเรายังมีทีมสอบสวนโรค (outbreak inversigator) ที่ช่วยระบุกลุ่มเสี่ยง ทำให้อาจจะยังไม่ต้องเน้นการตรวจแบบปูพรมจำนวนมากในประชากรทั่วไปเหมือนหลายประเทศทั่วโลก

แต่สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันคงเกินกำลังของทีมสอบสวนโรคไปมากแล้ว โดยที่ขีดความสามารถในการตรวจยังคงที่อยู่ประมาณ 60,000-80,000 test/วัน ตลอดช่วงเวลาของการระบาดระลอกที่สาม ทำให้ตอนนี้สัดส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ตรวจพบน่าจะต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงภายในประเทศ
พิจารณาได้จากอัตราการตรวจพบผลบวกจากการตรวจด้วย RT-PCR ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 5% ในช่วงแรกของการระบาดระลอกที่สามกลายเป็นประมาณ 15-20% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (ยังไม่รวมผลจากการตรวจ Ag Test ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันด้วย RT-PCR)
Source: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

3. แต่ที่น่าตกใจมากกว่าคือ ทีมวิจัยของ MIT ซึ่งได้พัฒนาแบบจำลองพลวัตระบบเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของการระบาดใน 92 ประเทศทั่วโลก (โดยใช้ข้อมูลปี 2020) คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อถึงประมาณ 100 เท่าของจำนวนที่เรารายงาน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้นจริงถึงประมาณ 20 เท่าของจำนวนที่เรารายงาน

ประเทศไทยจึงถูกจัดอันดับโดยทีมวิจัยของ MIT ให้เป็นอันดับ 1 ในบรรดา 92 ประเทศทั่วโลกในด้านการรายงานข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อยกว่าที่ตรวจพบ​ (ตามภาพ)
ทีมวิจัยของเรากำลังติดต่อนักวิจัยของ MIT ทั้งสามท่านเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวอยู่ครับ (อ่าน full paper รวมทั้ง supplementary materials แล้วก็ยังไม่เข้าใจ) เพราะถึงแม้เราจะรู้ว่าตอนนี้ประเทศไทยของเรา underreport แน่นอน แต่ก็ไม่คิดว่าเราจะมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ตรวจไม่พบสูงเกินหน้าเกินตาใครๆ ไปมากมายขนาดนั้น
Source: Rahmandad H, Lim TY, Sterman J. Behavioral dynamics of COVID-19: estimating underreporting, multiple waves, and adherence fatigue across 92 nations. Syst Dyn Rev. 2021 Jan 1;37(1):5–31. Available from: https://doi.org/10.1002/sdr.1673