Q1: กลับตัวก็ไม่ได้จะเดินต่อไปก็ไปไม่ถึง? : เราควรมีนโยบายและมาตรการเพื่อรับมือจัดการระบาดระลอกสายพันธุ์โอมิครอนที่แตกต่างไปจากการรับมือการระบาดระลอกที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง?

Q1: กลับตัวก็ไม่ได้จะเดินต่อไปก็ไปไม่ถึง? : เราควรมีนโยบายและมาตรการเพื่อรับมือจัดการระบาดระลอกสายพันธุ์โอมิครอนที่แตกต่างไปจากการรับมือการระบาดระลอกที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง?

10 มีนาคม 2565

โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรศม ลีระพันธ์
โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


คำตอบที่เรามักจะได้ยินจากผู้กำหนดนโยบายคือ แม้เชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นแต่มีความรุนแรงลดลง น่าจะทำให้ใกล้สิ้นสุดการระบาดใหญ่ (pandemic) และเรากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การมีโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) ในประเทศไทย น่าจะเป็นโอกาสช่วยให้เราเริ่มเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศได้แล้ว

การทำงานระยะที่ผ่านมาทำให้ทีมวิจัยมีคำตอบที่อาจจะแตกต่างออกไป ความเข้าใจทางระบาดวิทยาและไวรัสวิทยา รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วยแบบจำลองสถานการณ์ (simulation modeling) ยังคงชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของประชาชนที่ยังมีความเปราะบางด้านสุขภาพในระบาดระลอกสายพันธุ์โอมิครอน ยังจำเป็นที่ภาครัฐต้องเร่งรัดการพัฒนานโยบายและมาตรการที่จะช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างรวดเร็วที่สุด และหากเราควบคุมการระบาดระลอกโอมิครอนได้ไม่ดี อาจจะน่าจะเป็นอุปสรรคในการเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศได้เช่นกัน

ข้อสรุปดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานความรู้ที่สังคมไทยได้เรียนรู้ร่วมกันว่าสายพันธุ์โอมิครอนมีความแตกต่างจากสายพันธุ์เดลต้าซึ่งแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ซึ่งสามารถสรุปโดยสังเขปได้ 2 ประเด็น คือ

1) สายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายในชุมชนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้น และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่งขึ้น

ในปัจจุบันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดกลายเป็นสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว โดยเฉลี่ยผู้เชื้อ สายพันธุ์โอมิครอน 1 คน มีความสามารถ ตามธรรมชาติในการแพร่เชื้อจนทำให้เกิดผู้ติดเชื้อใหม่อีกประมาณ 8-15 คนตลอดระยะเวลาของการติดเชื้อ (ประมาณ 5-10 วัน) หรือมีค่า R0 = 8-15 ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์เดลต้าเกือบเท่าตัว (R0 delta =6.5-8) และมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่นถึงประมาณห้าเท่า (R0 Wuhan =2-3) โดยค่าเฉลี่ยดังกล่าวพิจารณาจากการแพร่เชื้อตามธรรมชาติในประชาชนที่ยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ความสามารถในการแพร่เชื้อที่แท้จริงของของสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยในปัจจุบัน (Rt) อาจจะมีค่าน้อยกว่า 8-15 ได้ หากภาครัฐมีมาตรการควบคุมโรคที่ได้ผล หรือเรายังรักษามาตรการส่วนบุคคลเพื่อป้องกันตัวเองได้ดี หรือเรามีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 แล้ว (ไม่ว่าภูมิคุ้มกันจะเกิดจากเคยติดเชื้อมาก่อนแล้วหรือเกิดจากการได้รับวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม)

(ที่มาของภาพ: ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)

อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางไวรัสวิทยาชี้ว่าเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่งมาก ทำให้เราอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำได้ (reinfections) หรือโอกาสติดเชื้อยังคงสูงอยู่แม้ว่าเราจะเคยได้วัคซีนครบแล้วก็ตาม และโอกาสเราที่เราจะติดเชื้อและแพร่เชื้อกันต่อไปเรื่อย ๆ จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อภูมิคุ้มกันของเราเริ่มตกลงตามธรรมชาติหลังจากได้รับวัคซีนครบนานกว่า 3-6 เดือนแล้ว (immune waning)

2) การติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงของโรค “โดยเฉลี่ย” ลดลง

แม้ว่าความรู้ทางไวรัสวิทยาจะชี้ว่าเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจะมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ดีและหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่ง แต่มีข้อดีคือเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคในผู้ติดเชื้อได้ลดลงและซึ่งน่าจะทำให้อัตราป่วยตาย (case-fatality rate) ของโรคโควิด-19 ในปีพ.ศ. 2565 นี้ลดลงตามไปด้วย

แต่อัตราป่วยตายที่ลดลงเป็นเพียงค่าเฉลี่ย เมื่อพิจารณาข้อมูลโดยละเอียดแล้ว กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวยังคงมีอัตราป่วยตายที่สูงอยู่มาก แม้ว่าจะไม่รุนแรงเท่าเชื้อสายพันธุ์เดลต้าในปีกลายก็ตาม เพราะอัตราป่วยตายยังคงแตกต่างกันในผู้ติดเชื้อแต่ละกลุ่ม ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่แตกต่างกันจึงอาจจะยังคงเป็นประเด็นสำคัญในเชิงนโยบาย หากอัตราป่วยตายของประชาชนบางกลุ่มในประเทศยังคงสูงอยู่ ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการนโยบายการจัดการโรคโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่นได้

ข้อมูลจาก CDC ของสหรัฐอเมริกาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ชี้ให้เห็นว่าอัตราตายในประชากรทุกกลุ่มอายุที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้วแต่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับเข็มกระตุ้นแล้วถึง 4 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยที่ซึ่งติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2565 นี้ หากได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้วแต่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ยังคงมีอัตราการตายสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับเข็มกระตุ้นแล้วถึง 8 เท่า

.(ที่มาของภาพ: Centers for Disease Control and Prevention, USA และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)

เมื่อพิจารณาข้อมูลเรื่องการได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ของไทยในต้นเดือนมีนาคม 2565 กลับพบว่าเรายังคงมีประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือได้รับวัคซีนครบแล้วแต่ถึงระยะเวลาที่ภูมิตกลงแล้วแต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้นอยู่อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังไม่ถึง 30% ทำให้อัตราป่วยตายยังคงไม่ลดลง ยังไม่ต้องพูดถึงเด็กตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไปซึ่งยังได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่น้อยอยู่มาก แต่เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อและกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อในบ้านหรือในชุมชน หรือมีโอกาสติดเชื้อแล้วเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง (เช่น กลุ่มอาการ MIS-C) และอาจมีผลเสียระยะยาวได้ (เช่น ความสามารถในการเรียนรู้)

(ที่มาของภาพ: กระทรวงสาธารณสุข)

จนถึงปัจจุบันยังคงมี “ประชาชนกลุ่มเสี่ยง” ที่ก็ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย (0 เข็ม) กลุ่มที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ (1 เข็ม) หรือกลุ่มที่ยังได้รับวัคซีนครบแล้วแต่ถึงระยะเวลาที่ภูมิตกลงแล้วแต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น (2 เข็ม) ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงหากติดเชื้อแล้วจะยังคงมีอัตราป่วยตายที่สูงอย่างน่ากังวลอยู่ และการยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนของประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เรายังคงพบจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคมนี้

ดังนั้น การประเมินความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน (vaccine coverage) ระหว่างการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนภายในประเทศไทยในช่วงต้นปี 2565 ผู้กำหนดนโยบายอาจจะพิจารณาครอบคลุมของการได้รับวัคซีน เมื่อประชาชนการได้รับวัคซีนขั้นต่ำครบสามเข็ม (รวมวัคซีนเข็มกระตุ้น) มากกว่าการพิจารณาเพียงอัตราความครอบคลุมของวัคซีนเพียงสองเข็มอย่างที่ผ่านมา หากเราจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้โดยเร็ว ก็จำเป็นที่ภาครัฐควรพัฒนานโยบายและมาตรการเพื่อช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นเราอาจไม่สามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การมีโรคโควิด-19  เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยได้ในปีนี้อย่างที่คาดหวังไว้


กลับหน้าหลัก “5 คำถามสำคัญที่สังคมไทยไม่ควรปล่อยผ่าน : ชวนคิดเรื่องกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ระลอกโอมิครอน”