ข้อสังเกตจากแบบจำลองสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประเทศไทยในระยะ 15 ปีข้างหน้า
30 กันยายน 2565
*บทความและการนำเสนอแบบจำลองสถานการณ์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2564 และได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานเพิ่มเติมรวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับคณะทำงานของ The Demand and Capacity Programme of NHS England ผ่านโครงการ The Better Health Programme Thailand ภายใต้กองทุนพรอสเพอริตี้ (Prosperity Fund) ซึ่งบริหารจัดการโดยกระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพ (Foreign and Commonwealth Development Office) ของประเทศสหราชอาณาจักร
ภาระโรคที่เพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในสังคมผู้สูงอายุชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงการจัดระบบบริการสุขภาพภายใต้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย จำเป็นต้องมีการออกแบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีกว่าเดิมเพื่อรองรับอุบัติการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวานซึ่งมีภาระโรคมากที่สุด คณะผู้วิจัยได้ทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้เสียของนโยบายในเขตสุขภาพที่ 7 (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์) เพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายสำหรับการพัฒนาสมรรถนะของระบบบริบาลสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรังในบริบทสังคมผู้สูงอายุในประชากรไทยในระยะ 15 ปีข้างหน้า (ระหว่างปี พ.ศ. 2566-2580) พัฒนาแบบจำลองพลวัตระบบโดยใช้กระบวนการพัฒนาแบบจำลองโดยกลุ่ม และพัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นตัวอย่างของ “ห้องปฏิบัติการนโยบายสุขภาพ” เพื่อการออกแบบระบบบริบาลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังในบริบทสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยต่อไป
ผลลัพธ์จากการคาดการณ์ด้วยแบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบของระบบบริบาลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดในเขตสุขภาพที่ 7 ในระยะ 15 ปีข้างหน้า อาจชี้ให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาในระบบสุขภาพซึ่งทำให้เกิดปัญหาการขาดประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังในประเทศไทย การจัดสรรทรัพยากรในการดำเนินนโยบายไม่ตรงกับจุดคาดดีดคานงัดของระบบในระยะที่ผ่านมาอาจทำให้ยังไม่สามารถดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิผลมากที่สุดในการลดสัดส่วน “ความต้องการด้านสุขภาพที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง” (unmet health needs) ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยเบาหวานที่ยังไม่เคยได้รับการวินิจฉัย (the undiagnosed) และผู้ป่วยเบาหวานที่ยังควบคุมโรคไม่ได้ (the uncontrolled)
1) ประชากรที่ไม่มีโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด (Healthy Population)
หากไม่มีนโยบายหรือการจัดการเพิ่มเติมในระหว่างปี พ.ศ. 2566-2580 (run#1) แบบจำลองพลวัตระบบคาดการณ์ว่า 75.6% ของประชากรในเขตสุขภาพที่ 7 จะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดในปี พ.ศ. 2580 แนวโน้มที่ลดลงของสัดส่วนของประชากรที่ไม่มีโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดสอดคล้องกันกับแนวโน้มประชากรสูงอายุมากขึ้น และด้วยสาเหตุนี้ทำให้ประชากรในในเขตสุขภาพที่ 7 มีความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อมากขึ้นตามไปด้วย ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาทางเลือกนโยบายที่ 2 (run#3) ซึ่งเน้นการขยายความครอบคลุมของการทดสอบวินิจฉัยในกลุ่มประชากรเป้าหมายและมีประสิทธิผลมากที่สุดเนื่องจากจะเพิ่มจำนวนประชากรที่คาดการณ์ไว้ในเขตสุขภาพที่ 7 ที่ไม่มีโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ในปี พ.ศ. 2580 เป็น 76.3%
ภาพที่ 1 การคาดการณ์สัดส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตสุขภาพที่ 7 โดยไม่มีโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ระหว่างปี พ.ศ. 2566-2580
2) ประชากรที่มีโรคเบาหวานหรือภาวะก่อนเบาหวานที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย (The Undiagnosed)
ในกรณีที่ไม่มีนโยบายหรือการจัดการเพิ่มเติมในระหว่างปี พ.ศ. 2566-2580 แบบจำลองพลวัตระบบคาดการณ์ว่า 85.5% ของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตสุขภาพที่ 7 และมีโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย รักษา หรือ ถูกควบคุมโรคได้ดีในปี พ.ศ.2580 ดังนั้น 14.5% ของประชากรจะมีชีวิตอยู่โดยที่ความต้องการสุขภาพที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (unmet health needs) จากการมีโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย แต่ในกรณีที่ผู้กำหนดนโยบายพิจารณาใช้ทางเลือกนโยบาย#2 (run#3) ซึ่งมุ่งขยายความครอบคลุมของการทดสอบวินิจฉัยโรคเบาหวานในกลุ่มประชากรเป้าหมายจะได้ประสิทธิผลมากที่สุด โดยแบบจำลองคาดการณ์ว่าจะลดความต้องการด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองสำหรับประชากรในเขตสุขภาพที่ 7 จากการมีโรคเบาหวานและภาวะ prediabetes ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยเป็น 11.5% ในปี พ.ศ.2580 นโยบายนี้ส่วนใหญ่จะลดจำนวนผู้ที่ไม่ได้รับการคัดกรองโรคเบาหวานและไม่ได้รับการวินิจฉัยจากประมาณ 134,00 คนในปี 2580 หรือ 34,000 คน ซึ่งน้อยกว่าจำนวน 168,000 คนที่คาดการณ์ไว้ในฉากทัศน์แรก (business-as-usual; BAU) แม้ว่าความต้องการด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองจะแนวโน้มเปลี่ยนแปลงน้อยลงในปีหลังๆ
ภาพที่ 2 การคาดการณ์ความต้องการสุขภาพที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตสุขภาพที่ 7 จากการมีโรคเบาหวานหรือก่อนเป็นเบาหวานที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยระหว่างปี พ.ศ. 2566-2580
3) ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมโรคได้ดี (Well-controlled Diabetes)
หากไม่มีนนโยบายหรือการจัดการเพิ่มเติมในระหว่างปี พ.ศ. 2566-2580 แบบจำลองพลวัตระบบคาดการณ์ว่า จะมีเพียง 18.2% ของประชากรในเขตสุขภาพที่ 7 ที่มีการวินิจฉัยโรค โรคเบาหวานหรือภาวะ prediabetes เท่านั้นที่ได้รับการดูแลรักษาแล้วสามารถควบคุมโรคได้ในปี พ.ศ.2580 โดยที่ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยในกลุ่ม 18.2% ดังกล่าวนี้เป็นโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดแล้ว
ในกรณีที่ผู้กำหนดนโยบายพิจารณาใช้ทางเลือกนโยบาย #3 และ #4 (run#5) ซึ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพคุณภาพของการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยระยะก่อนเป็นเบาหวาน สามารถเพิ่มสัดส่วนผู้ป่วยที่ควบคุมโรคได้ในปี พ.ศ. 2580 ได้อีกเล็กน้อยเป็น 21.4% หากเราคำนึงถึงทั้งโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและควบคุมโรคได้ไม่ดีเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านคุณภาพของระบบบริบาลสุขภาพ หรือเป็นตัวชี้วัดสมรรถนะของผู้ให้บริการสภาพในสถานพยาบาลผู้ที่ให้บริการแก่ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมดในเขตสุขภาพที่ 7 แบบจำลองพลวัตระบบคาดการณ์ความต้องการด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองเนื่องจากควบคุมโรคไม่ได้แม้ว่าจะเข้าถึงการรักษาพยาบาลในสัดส่วนที่สูงมาก ในทางกลับกันในสถานการณ์สมมติที่ดำเนินนโยบายทางเลือกที่ 2 (run#3) ซึ่งเน้นการขยายความครอบคลุมของการทดสอบวินิจฉัยในกลุ่มประชากรเป้าหมาย ก็สามารถทำให้ความต้องการด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองลดลงไปกว่าฉากทัศน์ BAU คือเหลือเพียง 17.3% ในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยและนำเข้าสู่ระบบจำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วแนวโน้มของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีการควบคุมอย่างดีภายในระบบบริบาลสุขภาพในเขตสุขภาพที่ 7 ภูมิภาคนั้นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้ความต้องการด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากการควบคุมโรคไม่ได้ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
ภาพที่ 3 การคาดการณ์สัดส่วนของผู้ป่วยโรคเบาหวานในระบบบริบาลสุขภาพของเขตสุขภาพที่ 7 ที่ควบคุมโรคได้ในระหว่างปี พ.ศ. 2566-2580
4) การวิเคราะห์ความอ่อนไหวของผลลัพธ์จากการคาดการณ์ด้วยแบบจำลอง (Sensitivity Analysis)
ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำแบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบไปใช้เป็นเครื่องมือช่วยการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และใช้คาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ดังนั้น ผลลัพธ์ของการคาดการณ์ที่ได้จากแบบจำลองควรได้รับการตรวจสอบเทียบกับข้อมูลในอดีตเพื่อเพิ่มความมั่นใจของผู้มีอำนาจตัดสินใจในแบบจำลองแล้ว แต่ในการพัฒนาแบบจำลองพลวัตระบบนี้ยังมีปัญหาการขาดข้อมูลบางตัวหรือความไม่พร้อมในใช้งานของข้อมูลบางตัว ทำให้ผู้วิจัยอาจไม่สามารถนำแบบจำบองไปตรวจสอบเทียบกับข้อมูลในอดีตได้ทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างการคาดการณ์โดยแบบจำลองสถานการณ์และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตได้
แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือการทำการวิเคราะห์ความอ่อนไหว (sensitivity analysis) สำหรับพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ของแบบจำลองสถานการณ์มากที่สุด ผู้วิจัยเลือกทดสอบพารามิเตอร์บางตัวที่มีปัญหาความพร้อมของข้อมูล เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากการขาดข้อมูลและการประเมินพารามิเตอร์โดยผู้สร้างแบบจำลองและน่าจะมีความอ่อนไหวและส่งผลต่อผลลัพธ์ของแบบจำลองมากที่สุด ผู้วิจัยจึงทำวิเคราะห์ความอ่อนไหวของผลลัพธ์ที่มีความสำคัญเชิงนโยบายมากที่สุด ได้แก่ ความต้องการด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองและสัดส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีการควบคุมอย่างดี
ภาพที่ 4 การวิเคราะห์ความอ่อนไหวของผลลัพธ์ที่มีความสำคัญเชิงนโยบาย ความต้องการด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองและสัดส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีการควบคุมอย่างดี
ผลการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของประสิทธิผลของการแทรกแซงเชิงนโยบายทั้งหมดที่มีผลต่อผลลัพธ์ที่คาดการณ์ไว้ ได้แก่ ความต้องการด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองและสัดส่วนของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีการควบคุมอย่างดี ด้วยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย 500 ครั้ง และเปลี่ยนค่าประสิทธิผลของการแทรกแซงนโยบายแต่ละรายการจากขั้นต่ำ 0% เป็นสูงสุด 100% (เปรียบเทียบความแตกต่างเป็นร้อยละเทียบกับประสิทธิผลของฉากทัศน์การดำเนินนโยบายตามปกติหรือ BAU) ผลการวิจัยพบว่า การคาดการณ์ร้อยละของผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งยังมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและยังมีความต้องการด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองในปี พ.ศ. 2580 อาจแตกต่างกันอย่างมากตั้งแต่ 53.8% เป็น 75.8% ในขณะที่ร้อยละของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความต้องการด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองก็อาจแตกต่างกันได้ตั้งแต่ 12.7% ถึง 18.1%
ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่น ๆ ในเขตสุขภาพที่ 7 รวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถทดลองทดลองทำการวิเคราะห์ความอ่อนไหวต่อการคาดการณ์ความต้องการด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองและสัดส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีการควบคุมอย่างดี่ได้ด้วยตนเอง โดยใช้ส่วนเชื่อมต่อของผู้ใช้งานแบบจำลอง (user interface of the model) ที่ผู้วิจัยนำเสนอแบบออนไลน์ไว้บนเว็บไซต์นี้ (ดูที่ต้นบทความ)