Q2: ข้อมูลเปลี่ยนไปทำไมความเข้าใจไม่เปลี่ยนตาม? : ประชาชนควรระวังอะไรเป็นพิเศษบ้างในการระบาดระลอกนี้ และควรจะเลิกระวังอะไรได้แล้วบ้าง?

Q2: ข้อมูลเปลี่ยนไปทำไมความเข้าใจไม่เปลี่ยนตาม? : ประชาชนควรระวังอะไรเป็นพิเศษบ้างในการระบาดระลอกนี้ และควรจะเลิกระวังอะไรได้แล้วบ้าง?

10 มีนาคม 2565

โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรศม ลีระพันธ์
โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


คำตอบที่เรามักจะได้ยินจากผู้กำหนดนโยบายคือ “ประชาชนห้ามการ์ดตก” แต่จากการทำงานในระยะที่ผ่านมาทำให้ทีมวิจัยมีคำตอบที่อาจจะแตกต่างออกไป นอกจากเรื่องการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมก่อนที่ภูมิคุ้มกันจะตกลงแล้ว เราทุกคนควรสนใจปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ (new normal) โดยเฉพาะเรื่องระบบระบายอากาศในอาคารสถานที่เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง (structural change) มากกว่าการมุ่งเน้นเพียงเฉพาะเรื่องพฤติกรรมส่วนบุคคลเท่านั้น นอกจากนั้น เราสามารถลดการระมัดระวังการติดเชื้อที่มากเกินไปในระหว่างการทำกิจกรรมบางประเภทพื้นที่สาธารณะ โดยการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคระหว่างการใช้ตามหลักฐานวิชาการที่มีล่าสุด

เนื่องจากตอนนี้การติดเชื้อโควิดในครอบครัวและชุมชนเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดและควรจัดเป็นลำดับความสำคัญสูงสุดสำหรับเราทุกคนยังคงเป็นการช่วยกันทำให้สมาชิกในครอบครัวและชุมชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อภูมิคุ้มกันเริ่มตกลงแล้วได้อย่างทันเวลา เพื่อลดโอกาสป่วยและเสียชีวิตของกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ส่วนการรักษาสุขนิสัยที่ประชาชนช่วยกันทำมาตั้งแต่ปีก่อนก็คงต้องช่วยกันรักษาให้คงอยู่ต่อไป

แม้ว่าความรู้เกี่ยวกับโอมิครอนส่วนหนึ่งเป็นความรู้ใหม่ทางไวรัสวิทยาที่เราเพิ่งได้เรียนรู้ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นความรู้เดิมที่สอดคล้องกับสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า นั่นคือความรู้เรื่องวิธีการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ซึ่งนอกจากสามารถแพร่กระจายได้ผ่านละอองฝอย (droplet) ที่ออกจากการไอจามผู้ติดเชื้อในระยะประมาณ 2 เมตรแล้ว เชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ยังแพร่กระจายผ่านละอองลอยในอากาศ (aerosol) ได้ด้วย ดังนั้น แม้จะพยายามเว้นระยะห่างทางกายภาพแล้ว เราจะยังคงติดเชื้อกันง่ายมากหากอยู่ในที่ชุมชนแล้วเผลอไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย (เช่น ตอนรับประทานอาหาร) หรือเมื่ออยู่ในสถานที่ซึ่งระบายอากาศได้ไม่ดี (เช่น ห้องปรับอากาศที่ไม่มีระบบ หมุนเวียนของอากาศที่เหมาะสม)

ที่ผ่านมาเราอาจจะเน้นกันมากเรื่องมาตรการส่วนบุคคล (“การ์ดอย่าตก”) แต่การปรับโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ โดยเฉพาะเรื่องระบบระบายอากาศในอาคารสถานที่ทั่วไป ควรจะได้รับความใส่ใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง “มาตรการช่วยเหลื​อฟื้นฟูเยียวยา” ของ​หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีส่วนช่วยสนับสนุนปรับโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งจะช่วยประชาชนทุกคนช่วยกันเริ่มกิจกรรมทางสังคมหรือการประกอบอาชีพวิถีชีวิตใหม่ได้ง่ายมากขึ้นด้วย

(ที่มาของภาพ: Centers for Disease Control and Prevention, USA)

ความเข้าใจในความรู้ที่มากขึ้นอาจช่วยลดความกังวลหรือการระมัดระวังการติดเชื้อที่มากเกินไปในระหว่างการทำกิจกรรมบางประเภทของประชาชนด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การใส่หน้ากากอนามัยระหว่างออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งและมีการระบายอากาศได้ดีของบุคคลที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว (เช่น การวิ่งในสวนสาธารณะที่สามารถเว้นระยะห่างทางกายภาพระหว่างบุคคลได้ดี) อาจไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 มากนักเพราะความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและติดเชื้อสำหรับผู้ที่ภูมิคุ้มกันสูงอยู่ในสภานการณ์นั้นต่ำมากอยู่แล้ว

ในทางกลับกัน การสวมหน้ากากอนามัยขณะออกกำลังกายหนักอาจส่งผลเสียทำให้เกิดการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราหายใจออกมาในหน้ากาก ทำให้เราหายใจเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าไปในปอดมากกว่าสัดส่วนปกติในอากาศ เมื่อออกกำลังกายหนักถึงจุดหนึ่งจะทำให้เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ และผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ (ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น) สามารถช่วยให้ประชาชนมีกิจกรรมทางสังคมในวิถีชีวิตใหม่ได้ง่ายขึ้นโดยการกำหนดมาตรการควบคุมโรคระหว่างการใช้พื้นที่สาธารณะตามหลักฐานวิชาการที่มีล่าสุด


กลับหน้าหลัก “5 คำถามสำคัญที่สังคมไทยไม่ควรปล่อยผ่าน : ชวนคิดเรื่องกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ระลอกโอมิครอน”