Q3: ทำไมเรา (ถูกทำให้) มองเห็นความจริงได้ยากนัก? : ทำไมการนำเสนอสถานการณ์การระบาดของสธ. และ ศบค. จึงยังไม่สามารถในการระบุจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งหมดในแต่ละวันได้อย่างชัดเจน?
10 มีนาคม 2565
โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรศม ลีระพันธ์
โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คำตอบที่เรามักจะได้ยินจากผู้กำหนดนโยบายคือ จำนวนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่ตรวจ antigen test kit (ATK) ได้ผลบวก ยังไม่สามารถนับรวมเป็น “ผู้ติดเชื้อใหม่” ตามนิยามสากลได้ จำเป็นต้องได้รับการยืนยันด้วยการตรวจ Real Time Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) เสียก่อน ซึ่งหากเรานับตัวเลขทั้งสองส่วนนี้รวมกันโดยตรงจะเป็นการนับซ้ำ เพราะส่วนหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน เป็นผู้ที่เคยรายงานแล้วว่าเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่ายในวันก่อน ๆ
การทำงานระยะที่ผ่านมาทำให้ทีมวิจัยมีคำตอบที่อาจจะแตกต่างออกไป การแยกแยะรายงานระหว่างผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (probable case) และรายงานผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันด้วยการตรวจ rt-PCR แล้ว (confirmed case) เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่เวลาที่ผ่านไปเกือบครึ่งปีหลังจากที่เราเริ่มใช้ ATK ในการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 น่าจะนานพอที่หน่วยงานภาครัฐสามารถพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อระบุข้อมูลของผู้เข้ารับการตรวจ (identification) เพื่อให้สามารถแยกผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR ที่เคยเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่ายในวันก่อน ๆ ออกมาได้ไม่ยาก และเชื่อได้ว่าไม่เกินความสามารถทางเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศในประเทศไทย
แต่จนถึงวันนี้เรายังคงไม่มีระบบรายงานตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ถูกต้องชัดเจน ทั้งที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สุดในจำเป็นในการวิเคราะห์หาแนวโน้มการระบาด (epidemic curve) ส่งผลให้การประเมินสถานการณ์เพื่อการประเมินความต้องการระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการคาดการณ์จำนวนความต้องการเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักล่วงหน้าอย่างแม่นยำก็ทำได้ยากมากขึ้น นอกจากนั้น นโยบายล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขที่มีปรับแนวทางการรักษาพยาบาลให้ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 บางส่วนสามารถได้รับการดูแลรักษาโดยไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR จะยิ่งทำให้เรามี “การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่าความเป็นจริง” (underreporting) มากยิ่งขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
(ที่มาของภาพ: กระทรวงสาธารณสุข)
ระบบรายงานที่เราใช้อยู่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีเมื่อเรามีการปรับเปลี่ยนนโยบายมาเริ่มใช้ ATK เมื่อกลางปีก่อน แต่หากเราไม่มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน เราก็จะไม่สามารถใช้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่เป็นในการวิเคราะห์หาแนวโน้มการระบาดได้ ไม่สามารถประเมินความต้องการระบบบริการสุขภาพทำได้อย่างแม่นยำ การประเมินสถานการณ์เพื่อปรับนโยบายให้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การมีโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยเพื่อเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศก็จะทำได้ยากมากขึ้นเช่นกัน