หลังจากที่เราใช้เครื่องมือต่างๆ ของการคิดเชิงระบบ เพื่อทำความเข้าใจระบบแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการหาจุดคานงัด (Leverage point) ในการแก้ปัญหา ซึ่งก็คือจุดที่ใช้แรงน้อยที่สุดแต่ได้ผลลัพธ์สูงสุด อย่างที่อาร์คิมิดิส บิดาวิชาสถิตยศาสตร์ (Statics) ผู้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องจักรกลหลายชิ้น รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงที่ยังใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบันได้กล่าวไว้ว่า
“หากหาจุดที่เหมาะสม หาจุดคานงัดที่ถูกจุด งานยกก้อนหินก็ไม่ใช่เรื่องยาก”
จุดคานงัดของระบบคืออะไร?
Donella Meadows นักสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกันได้ให้คำแนะนำในการหาจุดคาดงัดไว้ในหนังสือThinking in Systems: A Primer โดยลิสต์ดังกล่าวเรียงจากผลกระทบที่น้อยไปมาก ดังนี้
12. ค่าตัวแปรต่างๆ
การปรับค่าตัวแปร เช่นขนาดของ stockหรือ อัตราของ flow ให้ผลน้อยที่สุด เนื่องจากไม่ได้เป็นปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างของระบบ เช่นการเพิ่มงบสำหรับตำรวจไม่ได้ทำให้อาชญากรรมหายไปการปรับค่าตัวแปรที่มีผลกระทบสูง คือตัวแปรที่ควบคุมค่าของ Reinforcement loop เช่นอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราการเกิด แต่ตัวแปรลักษณะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
11. ขนาดของ Buffer
Buffer คืออัตราส่วนระหว่างขนาดของ stock และ flowซึ่งBufferที่มีขนาดใหญ่ช่วยให้ระบบมีความเสถียร เช่นหมู่บ้านที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ก็จะประสบปัญหาการขาดน้ำน้อยหมู่บ้านที่อาศัยแต่แม่น้ำ ระบบสินค้าคงคลังก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของ Buffer ที่ช่วยให้ร้านค้ามีสินค้าบริการลูกค้าเสมอ
แต่การที่มี Bufferขนาดใหญ่ก็ทำให้ระบบไม่มีความยืดหยุ่น ทั้งต้องแบกรับต้นทุนในการรักษาสินค้าคงคลัง จุดคานงัดนี้คือการเปลี่ยนขนาดของ Bufferซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายนักในทางปฏิบัติเนื่องจากBufferเช่นอ่างเก็บน้ำหรือคลังสินค้ามีลักษณะทางกายภาพ
10. โครงสร้างทางกายภาพ
ถนนเป็นระบบอย่างหนึ่งที่มี stockเป็นปริมาณความหนาแน่นรถของ และ flow คืออัตรารถที่ไหลเข้าออกที่ตามแยกต่างๆ ถนนที่ออกแบบมาไม่ดีก็ทำให้รถติดโดยไม่จำเป็น และการปรับมักจะหมายถึงการสร้างถนนใหม่ซึ่งไม่ใช้เรื่องที่จะทำได้ง่าย โครงสร้างทางกายภาพจึงเป็นจุดคานงัดที่ทำได้ยากในทางปฏิบัติ
9. ความล่าช้า
ความล่าช้าหรือดีเลย์ (Delay) ส่งให้ระบบมีการแกว่ง (oscilation) เช่น หากมีความล่าช้าในการรับข้อมูลระดับของ Stocks แล้วเราก็จะไม่สามารถปรับ Flows ได้อย่างทันท่วงทีทำให้ระดับของStocksมีความขึ้นๆ ลงๆ
ถึงแม้เราได้รับข้อมูลระดับของ Stocks อย่างทันท่วงทีแต่มีความล่าช้าในการปรับขนาด Flows ก็ทำให้ขนาดของ Stocks มีการแกว่งเช่นกัน ความล่าช้าทำให้ระบบไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้การวางแผนเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ในอดีตสหภาพโซเวียตไร้เสถียรภาพ เนื่องจากมีความล่าช้าของข้อมูล
หากเราสามารถปรับความล่าช้าของระบบได้ ก็ถือว่าเป็นจุดคานงัดที่มีผลกระทบสูง แต่หลายๆ ครั้งการปรับความล่าช้าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
8. Balancing loop
Balancing loop (วงจรสร้างสมดุล)มีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาสมดุลของระบบ ให้ขนาดของ stock อยู่ในระดับเป้าหมาย ทั้งนี้ประสิทธิผลของ Balancing loop อยู่ที่ความสามารถในการเฝ้าสังเกตระดับstockและความไวในการปรับระดับของFlowที่ช่วยปรับสมดุลของระบบ ตัวอย่างในการเพิ่มพลังของ Balancing loop ที่พบในชีวิตจริงได้แก่
- การสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโรคภัยได้ดีขึ้น
- ระบบเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม
- กฏหมายการเปิดข้อมูล เพื่อช่วยให้รัฐบาลมีความโปร่งใสมากขึ้น
7. Reinforcing Loop
เนื่องจาก Reinforcing loop (วงจรเสริมกำลัง)สร้างผลกระทบแบบก้อนหิมะ(Snowball effects) ที่ทำให้การเติบโตหรือพังทลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดการล้มสลายของระบบ ระบบที่มี Feedback loop ลักษณะนี้อาจพบไม่บ่อยนัก เพราะจะมี Balancing loop มาช่วยสร้างความสมดุลย์ให้ ยกตัวอย่าง เช่นเมื่อผู้คนเห็นผลกระทบของการมีประชากรมาก ก็ตัดสินใจมีลูกน้อยลง
ตัวอย่างที่สำคัญของ Reinforcing loop ในสังคมคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่คนรวยสามารถเข้าถึงทรัพยากร รวมถึงการให้การศึกษาที่ดีแก่บุตร ทำให้ยิ่งได้เปรียบและรวยขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างขึ้น จุดคาดงัดคือการทำงาน Reinforcing loop อ่อนกำลังลง ผ่านนโยบายต่างๆ เช่นอัตราภาษีก้าวหน้า ภาษีมรดก หรือการมีการศึกษาโดยรัฐที่มีคุณภาพ
6. การให้ข้อมูล
มีการศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์เกี่ยวกับตำแหน่งของมิเตอร์ไฟการใช้ไฟกับปริมาณไฟที่ใช้ในครัวเรือน พบว่าบ้านที่มีมิเตอร์ไฟในที่ๆ เห็นได้ง่าย ทำให้ทราบถึงปริมาณไฟที่ใช้ไปแล้ว มีการใช้ไฟน้อยกว่าบ้านที่มีมิเตอร์อยู่ในห้องใต้ดินถึง 30% การให้ข้อมูลถือเป็นจุดคานงัดที่ทรงพลัง และสามารถทำได้ง่ายในทางปฏิบัติ แต่ความท้าทายอยู่ที่การให้ข้อมูลในที่ๆ ใช้และสามารถโน้มน้าวใจได้
5. กฏ
กฏเป็นหนึ่งในสิ่งที่บ่งบอกความเชื่อมโยงขององค์ประกอบย่อยในระบบ การเปลี่ยนกฏเช่น ในบริบทของมหาวิทยาลัย นักศึกษาเป็นผู้ให้คะแนนอาจารย์ หรืออาจารย์ถูกประเมินจากงานที่ช่วยแก้ปัญหาได้จริงๆ มากกว่าการตีพิมพ์ ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยนี้แตกต่างจากมหาวิทยาอื่นๆ เป็นอย่างมาก การเปลี่ยนกฏหรือปรับนโยบายเป็นจุดคาดงัดที่ทรงพลัง ดังนั้นการทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายจึงเป็นสิ่งสำคัญ
4. การจัดการตัวเอง
สิ่งมีชีวิตและระบบสังคมมีความสามารถในการโครงสร้างหรือพฤติกรรมใหม่ ในเชิงชีววิทยาเรียกว่าวิวัฒนาการ ในเชิงสังคมและเศรษฐกิจเรียกว่าการปฏิวัติทางสังคม ในเชิงระบบเรียกว่าการจัดการตัวเอง (Self-organization)
การจัดการตัวเองทำให้ระบบมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ ระบบที่สามารถจัดตัวเองได้จะต้องมีการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับระบบที่มากมายและหลากหลายที่ช่วยให้มีหลายทางเลือกในการออกแบบระบบใหม่ รวมถึงกลไกในการทดลองต้นแบบระบบนั้นด้วย ในเชิงชีววิทยา DNA คือข้อมูลที่สร้างให้เกิดความหลากหลายของพันธุกรรม และการมีชีวิตรอดก็คือการทดสอบต้นแบบของสิ่งมีชีวิตใหม่ ดังนั้นจุดคานงัดในการจัดการตัวเองก็คือการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดความหลากทางความคิด และการทดลอง
3. เป้าหมายและหน้าที่ของระบบ
ใน 3 องค์ประกอบของระบบได้แก่ องค์ประกอบย่อย ความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และเป้าหมายนั้น องค์ประกอบย่อยมีผลกระทบต่อระบบน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนตัวนักกีฬาในทีมฟุตบอล ทีมนั้นก็ยังคงเป็นทีมฟุตบอลอยู่ ความเปลี่ยนแปลงของการเชื่อมโยงมีผลมากกว่า เช่นการเปลี่ยนกติกาทำให้กีฬานั้นไม่ใช่ฟุตบอลอีกต่อไป แต่การเปลี่ยนจุดประสงค์มีผลกระทบต่อระบบมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนจุดประสงค์ในการเล่นฟุตบอลจากการชนะเป็นการแพ้จะทำให้พฤติกรรมของระบบจากหน้ามือเป็นหลังมือ
2. การเปลี่ยนกระบวนทัศน์
กระบวนทัศน์ (Paradigm)คือวิธีคิดและความเชื่อที่สังคมหนึ่งๆ มีร่วมกัน เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจโดยไม่ต้องเขียนหรือพูดออกมา เช่น การเติบโตทางเศรษฐศาสตร์เป็นสิ่งที่ดี คนที่ได้เงินเดือนเยอะเก่งกว่าคนได้เงินเดือนน้อย
กระบวนทัศน์เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดระบบและวัฒนธรรมต่างๆ เช่นชาวอิยิปต์สร้างปิรามิดเพราะเชื่อในชีวิตหลังความตาย หากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายแล้วทำไมผู้เขียนถึงคิดว่าเป็นจุดคานงัดที่ทรงพลังเกือบจะมากที่สุด?เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์นั้นสูงมาก แต่ไม่ได้ใช้ค่าใช่จ่ายสูงและไม่ต้องปรับเปลี่ยนทางกายภาพ
การเปลี่ยนกระบวนทัศน์บางครั้งเกิดขึ้นช้าหรือไม่เกิดขึ้นเลย แต่บางครั้งก็เกิดขึ้นเร็วราวกับดีดนิ้ว ในการใช้จุดคานงัดนี้นักคิดเชิงระบบต้องรณรงค์ให้สังคมและผู้กำหนดนโยบายเห็นถึงปัญหาของกระบวนทัศน์เก่าและข้อดีของกระบวนทัศน์ใหม่
1. อยู่เหนือกระบวนทัศน์
ที่ทรงพลังไปกว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ คือการไม่ยึดติดอยู่กับกระบวนทัศน์ใดๆ เพราะโลกนั้นซับซ้อนกว่าเกิดกว่าความเข้าใจของมนุษย์ จึงเปิดรับกระบวนทัศน์ใหม่อยู่เสมอ