การคิดเชิงระบบ (Systems thinking) เป็นทั้งวิธีคิดและชุดเครื่องมือที่ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์และสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้นผ่านการมองอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบ ช่วยให้เรามองโลกในมุมใหม่ผ่านเป้าหมาย บริบท ความเชื่อมโยง และพฤติกรรมของระบบ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและความเข้าใจในมุมใหม่ๆ ที่เราจะไม่เห็นหากใช้การมองอย่างแยกส่วน
ก่อนที่จะพูดถึงการคิดเชิงระบบและการประยุกต์ใช้การคิดเชิงระบบในการแก้ไขปัญหาในรายละเอียด มาดูกันก่อนว่าระบบคืออะไร?
ระบบคืออะไร?
ระบบคือการเชื่อมโยงกันขององค์ประกอบย่อยเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง ระบบมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่
- องค์ประกอบย่อย(elements) เช่น ระบบย่อยอาหารมีองค์ประกอบย่อยอันได้แก่ ปาก คอ ลำไส้ กระเพาะอาหาร เอนไซม์ต่างๆ
- การเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (interconnectedness) เช่น ระบบย่อยอาหารเชื่อมโยงกันด้วยการไหลของอาหารและสารเคมีที่ช่วยในการย่อย
- เป้าหมาย (purpose) เช่น ระบบย่อยอาหารมีเป้าหมายในการทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารไปที่กระแสเลือดและกำจัดของเสียออกจากร่างกาย
ระบบไม่จำเป็นต้องเป็นระบบทางกายภาพเสมอไป ทีมฟุตบอลก็เป็นระบบ ที่ประกอบด้วยนักกีฬา โค้ช สนาม และลูกบอล ที่เชื่อมโยงกันด้วยกติกา กลยุทธ์ของโค้ช การสื่อสารของผู้เล่น และกฏทางฟิสิกส์ที่ทำให้ทั้งลูกบอลและผู้เล่นเคลื่อนที่ไปได้ โดยมีเพื่อหมายในการออกกำลังกาย เพื่อสันทนาการ เพื่อชัยชนะ หรือเพื่อสร้างรายได้ หรือมากก่วาหนึ่งเป้าหมายรวมกัน
โรงเรียน โรงพยาบาล ระบบสุริยะ สัตว์ หรือต้นไม้ก็เป็นระบบ ป่าก็เป็นระบบที่ประกอบด้วยระบบย่อยอย่างต้นไม้และสัตว์ต่างๆ
ถ้าแบบนั้นแล้วระบบหมายถึงการรวมกลุ่มกันของอะไรก็ตามใช่ไหม? คำตอบคือไม่เสมอไป ก้อนกรวดที่อยู่กระจัดกระจายอยู่บนถนนเป็นระบบหรือไม่? คำตอบคือไม่เป็นเพราะว่าก้อนกรวดเหล่านั้นไม่ได้เชื่อมโยงกัน และไม่ได้มาอยู่รวมกันอย่างมีเป้าหมาย ไม่ว่าเราจะเพิ่มหรือลดก้อนกรวดก็ยังเป็นกองกรวดที่กระจัดกระจายอยู่บนถนน แต่ในทางกลับกันหากขาดอวัยวะซักอย่างหนึ่งระบบย่อยอาหาร ร่างกายก็จะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
แล้วการคิดเชิงระบบใช้ทำอะไรได้บ้าง
การคิดเชิงระบบเป็นกรอบความคิดที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายจุดประสงค์และบริบท เช่น
- เพื่อทำความเข้าใจเช่นนักชีววิทยาใช้การคิดเชิงระบบในเพื่อทำความเข้าใจระบบที่ซับซ้อนอย่างระบบนิเวศวิทยา
- เพื่อทำนายเช่น นักเศรษฐศาสตร์ใช้การคิดเชิงระบบในการทำความเข้าใจพลวัตของเศรษฐศาสตร์โลก เพื่อการทำนายแนวโน้มและวางแผนรองรับสถานกาณ์ในอนาคต
- เพื่อแก้ปัญหาเช่น นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักธุรกิจใช้การคิดเชิงระบบเพื่อแก้ปัญหาในกระบวนการผลิตหรือธุรกรรมต่างๆ ซึ่งการประยุกต์ในการคิดเชิงระบบในบริบทนี้ถูกพัฒนาไปเป็นกระบวนการ ที่เรียกว่า Lean และ Six sigma
- เพื่อออกแบบระบบเช่น วิศวกร นักออกแบบเชิงระบบ และสถาปนิก พัฒนาชุดเครื่องมือที่เรียกว่าวิศวกรรมเชิงระบบเพื่อใช้ในการออกแบบระบบที่ซับซ้อน